Monday, January 4, 2016

8. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปะการัง

สำหรับประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองปะการังอยู่หลายฉบับ ทั้งการคุ้มครองตัวปะการังมีชีวิตและซากปะการัง กฎหมายคุ้มครองพื้นที่และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับแนวปะการัง ได้แก่ พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2496 และ 2528) พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง พ.ศ.2482 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบางจังหวัด เป็นต้น พระราชบัญญัติให้อำนาจทหารเรือปราบปรามการกระทำผิดบางอย่างทางทะเล พ.ศ.2490 พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2535 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2545 และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอีก 3 ฉบับ ซึ่งกฎหมายบางฉบับเกี่ยวข้องโดยตรงและบางฉบับเกี่ยวข้องในทางอ้อม ดังนั้นหากมีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับปะการังควรต้องคำนึงถึงเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งหน่วยงานที่บังคับใช้กฏหมายในพื้นที่โดยเฉพาะหากเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เนื่องจากการฟื้นฟูปะการังไม่ได้อยู่ในข้อยกเว้นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2549)

กรมประมงได้กำหนดมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำดังต่อไปนี้
          ผู้ฝ่าฝืนทำการประมงปะการัง หรือหินปะการังทุกชนิด ทุกขนาดไม่ว่าวิธีใด ๆ ในทะเล หรืออ่าวในท้องที่จังหวัดชายทะเลทุกจังหวัด มีความผิดต้องโทษปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
          ผู้ฝ่าฝืนทำการประมงดำน้ำโดยใช้อวนล้อมทุกชนิดทุกขนาด หรือลักษณะคล้ายกัน โดยวางบนพื้นทะเลแล้วดำน้ำ เดินเหยียบย่ำบนแนวปะการังเพื่อไล่ต้อนปลาเข้าอวน มีความผิดต้องโทษปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
          ผู้ฝ่าฝืนทำการประมงโดยใช้กระแสไฟฟ้า วัตถุระเบิด สารเคมี ยาเบื่อเมามีความผิดต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 5 ปี และปรับตั้งแต่10,000-100,000 บาท และริบของกลางทั้งสิ้น
          ผู้ฝ่าฝืนส่งปะการัง ซากส่วนหนึ่งส่วนใด ผลิตภัณฑ์จากปะการังและปลาสวนงามออกนอกประเทศ มีความผิดต้องโทษปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้า จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำและริบของกลางรวมทั้งสิ่งที่บรรจุและพาหนะใด ๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าซึ่งเกี่ยวเนื่องด้วยความผิด
          ผู้ฝ่าฝืนมีหินปะการัง กัลปังหา เต่าทะเล กระและผลิตภัณฑ์ไว้ในครอบครองเพื่อการค้า มีความผิดต้องโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
          ผู้ฝ่าฝืนทำการประมงใจเขตรักษาพืชพันธ์ มีความผิดต้องโทษปรับ 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

7. การอนุรักษ์ปะการัง

การอนุรักษ์ปะการัง
1.ทำการกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในแนวปะการัง  พร้อมทั้งจัดทำแผนที่รายละเอียดแสดงบริเวณปะการัง  ซึ่งแบ่งเป็น 4 เขต  ได้แก่  เขตการดูแลของท้องถิ่น  เขตการใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยวและนันทนาการ  เขตอนุรักษ์เพื่อความสมดุลของระบบนิเวศ และการวิจัย  โดยกำหนดมาตรการในการบริหารการจัดการปะการังในแต่ละเขต  เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์และควบคุมการดำเนินกิจกรรมให้สอดคล้องกับมาตรการที่กำหนดไว้ 
2.ประชาสัมพันธ์ให้มีการตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรปะการัง  โดยให้มีการศึกษาและเผยแพร่ความรู้และคุณค่าของปะการังให้กับบุคคลทุกประเภท  ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ  ในการป้องกันและฟื้นฟูปะการัง
3.มาตรการการจัดการที่เหมาะสม เช่นการออกกฎหมายเพิ่มโทษแก่ผู้ทำลายปะการัง
4.ลดการใช้ประโยชน์แนวปะการังให้น้อยที่สุดเช่น การจับสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ปลาสวยงาม การเก็บปะการัง การยืนและเดินบนปะการังของนักดำน้ำ ฯลฯ

5.หน่วยงานภาครัฐต้องเปิดโอกาสและสนับสนุนให้ประชาชนมีบทบาทในการอนุรักษ์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างจริงจัง แนวทางที่ประชาชนสามารถร่วมมือทำได้อย่างเป็นรูปธรรมไม่ทิ้งสมอลงในแนวปะการัง ใช้ทุ่นผูกเรือในแนวปะการัง ไม่ทิ้งเศษซากอวนลงในทะเล ไม่เดินเหยียบย่ำบนแนวปะการัง ไม่ปล่อยน้ำเสียลงในแนวปะการัง ทำการประมงอย่างถูกวิธีโดยไม่ส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง ไม่มีการลักลอบเก็บปะการัง 

6.นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปต้องไม่ทิ้งขยะและเศษสิ่งของลงท้องทะเล

การฟื้นฟูปะการัง
แนวปะการังในหลายพื้นที่สามารถฟื้นตัวเองได้ตามธรรมชาติ ถ้าหากไม่มีสิ่งรบกวน ปะการังก็สามารถแตก-หน่อเจริญเติบโตแพร่ขยายในพื้นที่นั้นได้ อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่บางแห่งการฟื้นตัวของแนวปะการังตามธรรมชาติอาจเกิดขึ้นได้ช้า  เนื่องจากมีปัจจัยทางด้านกายภาพและชีวภาพรวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดจากมนุษย์ขัดขวาง เช่น กิจกรรมการพัฒนาชายฝั่งที่ทำให้เกิดตะกอน การท่องเที่ยว เป็นต้น ดังนั้นในพื้นที่แนวปะการังเสื่อมโทรมบางแห่งจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูโดยมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง
การฟื้นฟูปะการังที่ดำเนินการกับแนวปะการังโดยตรง แบ่งได้เป็น

1.การฟื้นฟูทางกายภาพ (Physical restoration) เป็นการปรับปรุงสภาพพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการฟื้นตัวของปะการัง ได้แก่

  -การปรับพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปให้เหมาะสมต่อการฟื้นตัวตามธรรมชาติของปะการัง เช่น การที่นักดำน้ำร่วมกันพลิกปะการังที่ล้มคว่ำให้กลับสู่สภาพที่จะเจริญเติบโตได้ต่อไปตามธรรมชาติ การเก็บขยะในแนวปะการัง นับเป็นการฟื้นฟูรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ปะการังสามารถดำรงชีวิตและเติบโตต่อไปได้ตามธรรมชาติ



-การเสริม พื้นแข็งก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ในการฟื้นฟูแนวปะการัง กรณีนี้เหมาะสมที่จะทำในพื้นที่ที่ถูกทำลายจนกระทั่งซากปะการังแตกหักป่นจากแรงระเบิด หรือซากปะการังถูกพายุซัดขึ้นไปกองอยู่บนหาด เหลือแต่พื้นทรายไว้ มีการทดลอง หล่อท่อคอนกรีตจัดเป็นรูปทรงหมอนสามเหลี่ยมวางในแนวปะการัง พบว่าภายในระยะเวลาประมาณ 7 ปี ปะการังสามารถเจริญเติบโตบนพื้นคอนกรีตนั้นได้ดี วิธีนี้เหมาะกับบริเวณที่ขาดพื้นที่ที่มั่นคงสำหรับตัวอ่อนปะการังในธรรมชาติที่จะลงเกาะและเจริญเติบโต และพบว่าหากพื้นที่ะมีจำนวนโคโลนีของปะการังที่ลงเกาะมากปะการังจะเริ่มลงเกาะบนแท่งคอนกรีตที่วางไว้นานประมาณปีเศษๆ และจะค่อยๆ มีการเติบโตของปะการังที่ลงเกาะจนกระทั่งครอบคลุมพื้นที่ลงเกาะทั้งหมดและอาจขยายไปบนพื้นที่ในธรรมชาติรวมทั้งมีการพัฒนาของประชาคมปลาใกล้เคียงกับแนวปะการังธรรมชาติในบริเวณเดียวกันวิธีนี้เป็นวิธีที่เห็นผลค่อนข้างช้า มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูง ชนิดและจำนวนปะการังที่ลงเกาะจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่มีข้อดีคือมีความหลากหลายของชนิดปะการังคล้ายกับที่มีอยู่ในธรรมชาติ จึงมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมได้มากกว่าการย้ายปลูกปะการังซึ่งมีปะการังชนิดเด่นๆ เพียงชนิดเดียวหรือไม่กี่ชนิดการฟื้นฟูแนวปะการังโดยวิธีใดๆ ก็ตามจำเป็นจะต้องศึกษาปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของปะการัง รูปร่างของพื้นที่ลงเกาะที่เหมาะสม รวมทั้งสภาพคลื่นลมและพื้นท้องทะเลบริเวณที่จะจัดวางมากพอสมควร เพื่อให้การฟื้นฟูประสบผลสูงสุด

  

กิจกรรมการฟื้นฟูแนวปะการังดังกล่าวข้างต้นเป็นการสร้าง แนวปะการังแท้แต่ก็ยังมีกิจกรรมอีกประเภทหนึ่งที่เป็นการสร้าง แนวปะการังเทียมซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมให้พื้นที่นั้นมีความอุดมสมบูรณ์ในแง่เป็นแหล่งพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อการประมงพื้นบ้านเป็นหลัก ก่อเกิดเป็นระบบนิเวศที่ก่อตัวขึ้นใหม่โดยที่มนุษย์ได้เข้าไปเริ่มเสริมสร้างให้ในขั้นแรก ซึ่งหากระยะเวลาผ่านไปนานขึ้น จะทำให้มีความหลากหลากของสัตว์ต่างๆ เพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ชนิดและจำนวน สัตว์เหล่านี้เป็นแหล่งดึงดูดให้สัตว์น้ำจำพวกปลาให้เข้ามาอาศัยหรือเข้ามาหาอาหารเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีทั้งในแง่ของการเป็นแหล่งทำการประมงพื้นบ้านก่อให้เกิดรายได้แก่ประชาชนในท้องถิ่นและเป็นการลดการทำลายทรัพยากรจากเรืออวนลากแล้ว ยังเป็นแหล่งที่มาของรายได้จากการท่องเที่ยว ดำน้ำ และตกปลาสำหรับนักท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง และคาดว่าในอนาคตในพื้นที่อีกหลายแห่งยังสามารถจมซากเรือเพื่อใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำ ทดแทนแนวปะการังตามธรรมชาติได้เป็นอย่างดี



ในบางครั้งการฟื้นฟูทางกายภาพเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะทำให้การฟื้นตัวของแนวปะการังเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการฟื้นฟูทางชีวภาพต่อไป
2.การฟื้นฟูทางชีวภาพ (Biological restoration) เป็นการฟื้นฟูที่ตัวปะการังโดยตรง ซึ่งวิธีที่ดำเนินการในปัจจุบัน ได้แก่การย้ายปะการังบางส่วนจากแหล่งที่มีความสมบูรณ์ไปยังบริเวณที่ต้องการฟื้นฟู โดยมีหลักสำคัญคือต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริเวณที่เป็นแหล่งพันธุ์ (donor reef area) ซึ่งการฟื้นฟูวิธีนี้ในประเทศไทยมีวิธีดำเนินการหลากหลายรูปแบบเช่น
-การย้ายปลูกปะการังเป็นวิธีการฟื้นฟูแนวปะการังวิธีหนึ่ง การรอดและการเจริญเติบโตของปะการังดังกล่าวแตกต่างกันไปขึ้นกับสภาพแวดล้อมของแต่ละบริเวณ วิธีนี้เหมาะสมกับพื้นที่สิ่งแวดล้อมเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของปะการังแต่ยังขาดตัวอ่อนหรือเศษของปะการังที่มีชีวิตที่จะสามารถเติบโต
ต่อไปในบริเวณนั้น โดยทั่วไปเป็นการย้ายปะการังเพียงไม่กี่ชนิดที่มีความทนทานต่อการย้ายและเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วในพื้นที่ที่ต้องการฟื้นฟูอย่างรวดเร็วและเห็นผลชัดเจนในเวลาสั้นๆ บริเวณดังกล่าวจะต้องมีพื้นท้องทะเล และกระแสน้ำไม่แรงจนเกิดไป ตลอดจนมีสภาพแวดล้อมอื่นๆ เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของปะการัง แต่การย้ายปะการังเพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง
ทำให้สังคมปะการังที่เกิดขึ้นประกอบด้วยปะการังที่ทำการย้ายเพียงชนิดเดียว แตกต่างกับแนวปะการังที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งจะมีปะการังหลายชนิดขึ้นอยู่ปะปนกันก่อให้เกิดเป็นสังคมปะการังที่ซับซ้อน


4. ลักษณะของปะการัง

ลักษณะของปะการัง
         เนื่องจากปะการังมีรูปร่างหลากหลายและมีร่วม 1,000 ชนิด บางชนิดก็กลับมีรูปร่างแตกต่างกันไปตามบริเวณที่อยู่อาศัยด้วย จึงนับเป็นการยากที่จะรู้จักชื่อปะการัง ยกเว้นการศึกษาอย่างจริงจัง ดังนั้นเพื่อความสะดวกในการรู้จักปะการังในขั้นต้น โดยสามารถแบ่งตามลักษณะที่เห็นออกได้เป็น 7 กลุ่มคือ

1. ปะการังก้อน (Massive Coral) มีลักษณะเป็นก้อนตันคล้ายก้อนหิน เช่น ปะการังสมอง


2. ปะการังกึ่งก้อน (Submassive Coral) มีลักษณะเป็นแท่งรวมกันเป็นกระจุกโดยไม่ได้ติดเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด
3. ปะการังเคลือบ (Encrusting Coral) มีลักษณะเติบโตขยายคลุมไปตามลักษณะของพื้นผิวที่มันห่อหุ้มอยู่




4. ปะการังกิ่งก้าน (Branching Coral) มีลักษณะเป็นกิ่งก้านแตกแขนง


5. ปะการังกลีบซ้อน (Foliaceous Coral) มีลักษณะเป็นแผ่นรวมกันเป็นกระจุกแบบใบไม้หรือผัก



6. ปะการังแผ่น (Tabulate Coral) มีลักษณะที่ขยายออกในแนวราบคล้ายโต๊ะอาจซ้อนกันเป็นชั้นๆ

7. ปะการังเห็ด (Mushroom Coral) มีลักษณะเป็นปะการังก้อนเดี่ยวๆ         

         นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีสัตว์ 2 ประเภทที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเดียวกับปะการัง แต่มีลักษณะภายนอกคล้ายปะการังมาก คือ ปะการังสีน้ำเงิน (Blue coral) ซึ่งในสภาพธรรมชาติขณะมีชีวิตอยู่จะมีสีเทา แต่เมื่อตายแล้วจะเห็นชัดว่าเป็นปะการังทั้งก้อน อีกประเภทหนึ่งคือปะการังไฟ (Fire coral) พวกนี้มีสีน้ำตาลเหลือง เมื่อไปสัมผัสโดนกับพวกนี้แล้วจะถูกเข็มพิษ ซึ่งมีความรุนแรงมากกว่าปะการัง ทำให้เกิดอาการแพ้ได้


3. การสืบพันธุ์ของปะการัง

ปะการังเป็นสัตว์ที่สามารถสืบพันธุ์ได้ 2 แบบ คือ แบบไม่อาศัยเพศและอาศัยเพศ
1.การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ
กลุ่มของปะการังนั้นเริ่มต้นการมีชีวิตโดยการเป็นตัวอ่อนที่เรียกว่า พลานูลา (planulae) ซึ่งเป็นผลผลิตจากการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของปะการัง  ตัวอ่อนนี้สามารถเคลื่อนที่ออกห่างจากกลุ่มปะการังพ่อแม่พันธุ์  มันอาจจะลงเกาะที่บริเวณอีกด้านหนึ่งของแนวปะการัง หรืออาจลงเกาะในแนวปะการังแหล่งอื่นก็ได้  เมื่อตัวอ่อนพบแหล่งอาศัยที่เหมาะสมมันจะลงเกาะบนพื้นล่าง หลังจากนั้นมันจะพัฒนาเป็นเซลล์เดี่ยวของปะการังที่เรียกว่าโพลิป เซลล์โพลิปจะเริ่มสร้างโครงร่างแข็งและแตกหน่อโพลิปใหม่หลาย ๆ อัน  แล้วกลุ่มปะการังกลุ่มใหม่ก็เริ่มเติบโต 



เซลล์สืบพันธุ์ของปะการังคือเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ และ ไข่ ส่วนโพลิปที่สามารถผลิตได้ทั้งเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้และไข่ ปะการังตัวนั้นเรียกว่า hermaphrodite หรือเป็นกะเทยนั่นเอง แต่ถ้าหากว่าโพลิป สร้างไข่ หรือสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ปะการังตัวนั้นเรียกว่า dioecious
 โพลิปจำนวนมากของปะการังจะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ออกมาทางปากของมันออกสู่ในมวลน้ำ ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่า การออกไข่  เซลล์สืบพันธุ์เพศผู้จะผสมกับไข่นอกตัวปะการัง  การผสมพันธุ์นอกตัวนี้เรียกว่าการผสมภายนอก ปะการังที่มีการสืบพันธุ์โดยการผสมพันธุ์ภายนอกนี้เรียกว่า spawners



นอกจากนี้ยังมีการผสมพันธุ์อีกวิธีหนึ่งคือไข่จะผสมพันธุ์ภายใน โพลิปของปะการัง ซึ่งเรียกว่าการผสมพันธุ์ภายใน ปะการังที่มีการผสมพันธุ์ภายในตัวนี้จะเรียกว่า brooders
ตัวอ่อนที่เกิดจากการออกไข่ของปะการังนั้นจะมีการพัฒนาในน้ำ มันจะถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำ ในเวลาเดียวกันมันก็จะลงเกาะในแนวปะการัง ซึ่งบางครั้งก็จะลงเกาะห่างจากที่มันเกิดหลายกิโลเมตร ปัจจุบันพบว่าปะการังจำนวนมากจะปล่อยไข่ในเวลาเดียวกัน  ในช่วงไม่กี่วันของแต่ละปี  การปล่อยไข่ออกมาพร้อมกันนี้ทำให้มีเซลล์สืบพันธุ์ของปะการังลอยอยู่ในน้ำจำนวนมาก ซึ่งเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้และไข่มีโอกาสผสมพันธุ์กันง่ายขึ้น และมากขึ้นและยังลดอัตราการตายจากการถูกกินโดยศัตรูอีกด้วย ส่งผลให้มีอัตราการรอดมากขึ้น

สำหรับปะการังที่มีการผสมพันธุ์ภายในตัวนั้น ตัวอ่อนจะมีการพัฒนาและว่ายน้ำหาที่เหมาะสมลงเกาะ บางครั้งตัวอ่อนจะว่ายน้ำเพียงระยะสั้น ส่วนมากจะลงเกาะห่างจากกลุ่มพ่อแม่ไม่เกินหนึ่งเมตร




2. การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ
การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศของปะการังนั้นเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของการสร้างปะการังกลุ่มใหม่   ที่เรียกว่าการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ  เนื่องจากว่าไม่มีการผลิตเซลสืบพันธุ์และไม่มีการผสมพันธุ์  ดังนั้นการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศนี้  ปะการังกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นมาจะมีพันธุกรรมเหมือนกับพันธุกรรมของกลุ่มพ่อแม่  และลูกปะการังที่เกิดใหม่นี้ไม่สามารถคลื่นที่ไปไกลจากบริเวณที่พ่อแม่อยู่ได้   ตัวอ่อนที่เกิดขึ้นมานั้นมักจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวอ่อนที่เกิดจากการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ  

          กระบวนการ fragmentation หรือการหักกิ่ง (branch-breakage) นั้นเป็นวิธีที่พบเห็นบ่อยในแนวปะการัง ปะการังกิ่งที่บอบบางนั้นง่ายต่อการแตกหักจากแรงคลื่น สัตว์น้ำ หรือการกระทำของมนุษย์  ซึ่งปะการังชิ้นที่แตกหักนั้นประกอบด้วยตัวปะการังจำนวนมาก ถ้าหากว่าสภาพแวดล้อมเหมาะสม ปะการังที่แตกหักเหล่านี้จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้แม้อยู่ห่างจากกลุ่มพ่อแม่  




การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศนี้มักจะเป็นการสร้างกลุ่มประชากรหลักของปะการังขึ้นมา ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถเพิ่มจำนวนปะชากรได้อย่างรวดเร็ว  ปะการังที่มีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศนี้จะมีอายุสั้นมากกว่าปะการังที่สืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ   การกระจายตัวของปะการังที่สืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศมักจะกระจายเป็นกลุ่มๆ ในขณะที่พวกอาศัยเพศกระจายอยู่ทั่วไปและไกลกว่า

รูปแบบและการแพร่กระจายของปะการังในประเทศไทย

         1. กลุ่มปะการัง (Coral Community) เป็นบริเวณที่มีก้อนปะการังกระจายอยู่ตามพื้น จะไม่พบหินปูนที่เกิดจากการสะสมทับถมกันของปะการังได้เด่นชัด ความลาดชันของพื้นเป็นไปตามลักษณะของชายฝั่ง มิใช่เกิดจากการสร้างแนวปะการังการแพร่กระจายของปะการังจึงเป็นไปตามลักษณะฝั่ง จะพบกลุ่มปะการังในบริเวณที่มีพื้นแข็ง เช่น บริเวณที่มีโขดหิน บริเวณข้างเกาะเป็นต้น



         2. แนวปะการัง (Coral Reef) บริเวณนี้จะเห็นการสะสมตัวของหินปูนที่เกิดจากปะการัง ซึ่งตายทับถมอยู่ด้านล่างของปะการังมีชีวิตชัดเจน โดยทั่วไปแนวปะการังนี้มักจะอยู่ห่างจากชายฝั่งออกมา โดยมีชายหาดด้านในเป็นพื้นทราย ถัดออกมาก็จะพบแอ่งน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งมีปะการังอยู่ประปรายในบริเวณที่น้ำไม่ลึกนัก เรียกว่า Reef Flat เวลาน้ำลงมากๆ ปะการังจะโผล่เหนือน้ำเล็กน้อยเป็นสาเหตุที่ด้านบนผิวหน้าของปะการังจะตายแล้ว จึงมาถึงแนวปะการัง ซึ่งมีปะการังขึ้นทับถมกันมากมาย เป็นบริเวณที่มีพลังงานหมุนเวียนมาก เพราะในบริเวณนี้จัดได้ว่าเป็นบริเวณ ปะทะคลื่น (Wave Front)


Saturday, December 12, 2015

6. ทำไมปะการังจึงถูกทำลาย







ปัญหาที่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของแนวปะการังขึ้นกับอิทธิพลของกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นนบริเวณแนวปะการัง ซึ่งถ้าแนวปะการังถูกทำลายจนเสื่อมโทรมความสมดุลของระบบนิเวศก็จะถูกทำลายไปด้วย ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรประมงในบริเวณแนวปะการังและบริเวณใกล้เคียง และทำให้เกิดการพังทลายของชายหาดที่สวยงาม ส่งผลต่อกิจกรรมการท่องเที่ยวได้ สาเหตุและแนวโน้มของปัญหาที่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของแนวปะการัง มีดังนี้

6.1 ปัญหาที่เกิดตามธรรมชาติ

·       การเกิดดาวหนามระบาด




นักวิทยาศาสตร์ได้ประเมินไว้ว่า หากมีดาวหนามเกิน 10   ตัว ในพื้นที่ 1 เฮกแตร์ (ประมาณ 10,000 ตาราง-เมตร) ให้ถือว่าอยู่ในระดับระบาด ถ้ามากกว่า 30 ตัว ถือว่าระบาดรุนแรงมาก ดังนั้นถ้าหากเรา ดำน้ำวนเวียนอยู่ในพื้นที่ขนาดนั้น แล้วพบว่ามีดาวหนามมากกว่า 10 ตัว ก็เห็นสมควรที่จะกำจัดดาวหนาม ทั้งนี้ถ้าอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ก็ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อขอความเห็น และต้องได้รับอนุญาตก่อน วีธีการกำจัดดาวหนาม ทำง่ายๆ โดยใช้มีดคว้านตรงกลางลำตัวให้อวัยวะภายในกระจายออกมา อย่าผ่ากลางเป็นสองท่อน เพราะดาวทะเลสามารถงอกแขนใหม่กลายเป็นสองตัวได้ หรืออาจใช้วีธีเก็บขึ้นบนเรือแล้วเอาไปทิ้งบนฝั่งก็ได้


             ·       การเกิดปะการังฟอกขาว




       การฟอกขาวของปะการังสามารถเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงแรงกดดันที่เกิดขึ้นกับปะการัง  ปะการังที่มีการฟอกขาวนั้น ปะการังจะมีสีขาวหรือสีจาง ซึ่งเป็นผลมาจากการสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี่ออกไปอย่างกะทันหัน หรือจะเกิดขึ้นเมื่อสาหร่ายขับเม็ดสีออกไป การฟอกขาวเป็นการตอบสนองทางกายภาพ ของสาหร่ายและปะการังต่อแรงกดดันของสภาพแวดล้อมในธรรมชาติ หรือการรบกวนของมนุษย์การฟอกขาวนี้จะพบหลังจากที่อุณหภูมิของน้ำสูงมากผิดปกติ  อย่างไรก็ตามปะการังสามารถมีสีขาวได้เหมือนกันถ้าถูกดาวหนามกิน  เพียงเวลาไม่กี่วันหลังจากถูกกิน ก้อนปะการังก็จะถูกปกคลุมด้วยสาหร่าย ปะการังที่ฟอกขาวนั้นอาจจะสร้างซูแซนเทลลี่ขึ้นมาใหม่โดยการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ หรือโดยการจับสาหร่ายซูแซนเทลลี่จากมวลน้ำเมื่อสภาพแวดล้อมกลับสู่สภาวะปกติ 





                     ·       คลื่นสึนามิ




         เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นทางฝั่งทะเลอันดามันเมื่อปลายปี พ.ศ.2547 ความรุนแรงของคลื่นสึนามิทำให้ปะการังเสียหายในหลายรูปแบบ เช่น พลิกคว่ำ แตกหัก ทรายทับถม จากการประเมินความเสียหายอย่างหยาบๆ โดยนักวิชาการและนักดำน้ำอาสาสมัคร สรุปได้ว่ามีแนวปะการังที่ได้รับความเสียหายในระดับรุนแรง (หมายถึง แนวปะการังในแหล่งนั้นๆ แตกหักพลิกคว่ำหรือเสียหายในรูปแบบต่างๆ มากกว่า 50%) กินพื้นที่ประมาณ 13% ของแนวปะการังทั้งหมดทางฝั่งทะเลอันดามัน บริเวณที่เสียหายมาก มักเป็นจุดที่อยู่ตามหัวเกาะและร่องน้ำระหว่างเกาะ



                 ·       พายุพัดทำลาย

เหตุการณ์พายุพัดทำลายแนวปะการังในน่านน้ำไทยเกิดขึ้นหลายครั้ง คือ ในปี พ.ศ.2529 ทางฝั่งทะเลอันดามันเกิดคลื่นพายุลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่รุนแรงมาก และทางฝั่งอ่าวไทยเกิดพายุเกย์และพายุลินดาในปี พ.ศ.2532 และ 2540 ตามลำดับ ผลของคลื่นพายุก่อให้เกิดความเสียหายในแนวปะการังเป็นบริเวณกว้าง




              6.2 ปัญหาจากมนุษย์

                   ·       การพัฒนาที่ดินบริเวณใกล้เคียงชายฝั่ง การก่อสร้างที่ยื่นล้ำลงไปในชายหาด


การพัฒนาที่ดินบริเวณใกล้เคียงชายฝั่ง การก่อสร้างที่ยื่นล้ำลงไปในชายหาด ทำให้ทรายถูกพาเคลื่อนไป อาจไปทับถมปะการังได้ หรือก่อสร้างโดยเปิดหน้าดินออกทำให้เกิดการชะตะกอนลงไปในน้ำไปคลุมปะการัง ตายได้ การทิ้งของเสียและสิ่งปฏิกูลลงในบริเวณปะการัง ก็ทำให้เสียสมดุลของระบบนิเวศ เช่น สาหร่ายจะเกิดมากขึ้นปกคลุมปะการังให้ตายหมด เมื่อมีน้ำเสียทิ้งลงไป เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ


·       การปล่อยน้ำเสีย (Sewage pollution) ลงทะเล

น้ำเสียนั้นจะประกอบด้วยสารอาหารจำนวนมาก เช่น ไนเตรท และฟอสเฟต  การเพิ่มขึ้นของสารอาหารในน้ำทำให้สาหร่ายสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว  สาหร่ายแข่งขันแย่งพื้นที่กับปะการัง ดังนั้นบางครั้งสาหร่ายเติบโตครอบคลุมก้อนปะการัง ทำให้ปะการังตาย

·       การทำเหมืองแร่บริเวณใกล้เคียงแนวปะการัง 

ไม่ว่าบนบกหรือในทะเล น้ำล้างแร่นั้นมีตะกอนมากจะทำให้ปะการังตายได้

·       การทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง


ขยะ  ได้แก่ พลาสติกและโลหะนั้นอาจจะถูกโยนลงในทะเล  สัตว์ในทะเลอาจจะเข้าใจผิดคิดว่าขยะเหล่านี้เป็นอาหารของมัน  และพยายามกินอาหารเหล่านี้  บางครั้งสัตว์ก็เข้าไปติดอยู่ในขยะ เช่น พลาสติกที่ทิ้งไว้บริเวณที่ไปวางอวน  แล้วพลาสติกพันปลายุ่งเหยิงจนปลาไม่สามารถดินหลุดออกมาได้ ทำให้มันบาดเจ็บหรือตายในที่สุด

·       คราบน้ำมันและน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม


เมื่อเกิดน้ำมันรั่วครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่ง ก็จะฆ่าสัตว์น้ำและเกิดการปนเปื้อนในตะกอนและน้ำบริเวณรอบ ๆ   คราบน้ำมันก็จะติดอยู่บนก้อนปะการังที่โผล่พ้นน้ำขณะน้ำลง ทำให้ปะการังและสัตว์อื่น ๆหายใจไม่ได้  ส่วนน้ำเสียจากอุตสาหกรรมนั้นมาจากโรงงานที่ผลิตขึ้นเพื่อมนุษย์ เช่น สารเคมีที่ใช้ฆ่าศัตรูพืช  ซึ่งถ้าหากล้างลงสู่ทะเลก็จะทำลายระบบนิเวศในทะเล

·       การทำลายหน้าดิน

การเพิ่มขึ้นของดินตะกอนนั้นมาจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากการถากถางพื้นที่ป่าทำให้หน้าดินโผล่นั้น  ในช่วงที่ฝนตกหนัก ดินจะถูกชะล้างลงสู่ทะเล  ดินตะกอนก็จะไปปกคลุมสัตว์ที่เกาะอยู่กับที่เช่น ปะการัง และฟองน้ำ ทำให้สัตว์เหล่านี้หายใจไม่ออก  และถ้าหากถากถางดินเพื่อใช้ในการเกษตรกรรม น้ำที่ไหลลงสู่แนวปะการังก็จะประกอบด้วยสารเคมี เช่น ยาฆ่าหญ้า และปุ๋ยหรือสารอาหารอีกด้วย

·       การทำประมงมากเกินกำลังและการใช้เครื่องมือแบบทำลายล้าง


การทำประมงมากเกินกำลัง เกิดเมื่อมีการจับสัตว์ที่ต้องการจำนวนมากเกินไป ออกจากแนวปะการัง ทำให้ปลาตัวเต็มวัยที่เหลืออยู่มีไม่เพียงพอในการสืบพันธุ์ และคงขนาดของประชากรไว้  สัตว์ชนิดนั้นก็จะกลายเป็นสัตว์ที่หายากหรือกำลังสูญพันธุ์ การนำอุปกรณ์ทำประมง เช่น ตาข่ายไนลอนมาใช้ เป็นการเพิ่มจำนวนสัตว์ที่จับได้มากขึ้นและยังทำให้เกิดการทำประมงมากเกินกำลังอีกด้วย ส่วนการทำประมงโดยใช้เครื่องมือแบบทำลายล้างเช่น การวางระเบิด และวางยาเบื่อปลานั้นเป็นการฆ่าสัตว์แบบไม่มีการเลือก  การใช้ระเบิด นั้นจะทำลายโครงสร้างแนวปะการัง ซึ่งทำให้สูญเสียพื้นที่อาศัยสำหรับสัตว์ที่อาศัยอยู่ในแนวปะการัง และนำไปสู่การทำประมงเกินกำลัง

·       การเก็บปะการัง

บางประเทศมีการสะสมปะการังเพื่อใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง  นอกจากนี้ยังมีการใช้ประโยชน์ปะการังเป็นของที่ระลึกและตกแต่งในตู้ปลา  การนำก้อนปะการังออกจากแนวปะการังนั้นมีความสำคัญ  ทั้งนี้เนื่องจากชีวิตสัตว์จำนวนมากขึ้นอยู่กับปะการังทั้งในเรื่องของอาหารและที่อยู่อาศัย นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของขนาดประชากรของมนุษย์มีผลกระทบบางประการแม้ว่าจะไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงก็ตาม

·       ปัญหาจากการท่องเที่ยวในแนวปะการัง


              การพัฒนาการท่องเที่ยวก็สามารถกลายเป็นอันตรายขนาดใหญ่สำหรับแนวปะการังได้เช่นกัน โรงแรม หรือรีสอร์ทขนาดใหญ่ที่อยู่บนฝั่งใกล้กับแนวปะการังนั้น สามารถทำลายแนวปะการังได้ เนื่องจากน้ำเสียที่เป็นอินทรีย์สารนั้นอาจปล่อยลงบนแนวปะการัง เหตุการณ์เช่นนี้สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการบำบัดน้ำเสียและปล่อยลงที่ไกลจากแนวปะการัง   
การทำลายอื่น ๆ นั้นเกิดจากการไม่มีประสบการณ์ หรือการดำน้ำอย่างไม่ระมัดระวัง และการทอดสมอเรือ ซึ่งทำให้ปะการังแตกหัก และในบางครั้ง ทำให้เกิดการทำลายสัตว์จำนวนมากในแนวปะการังเพื่อนำมาทำเป็นของที่ระลึกขายนักท่องเที่ยว

·       การพัฒนาแนวชายฝั่ง


เมื่อมีประชากรเข้ามาใช้พื้นที่เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดการพัฒนาแนวชายฝั่งมากขึ้นด้วย มีการนำเอากิจกรรม และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เข้ามาในพื้นที่ชายฝั่ง เช่น การใช้พื้นที่เพื่ออุตสาหกรรม สร้างที่อยู่อาศัย สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สนามบิน การก่อสร้างท่าเรือ การขุดรอก และอื่นๆ อีกมากมาย   ซึ่งกิจกกรมเหล่านี้จะไปรบกวนการไหลเวียนของระบบน้ำ ทำให้รูปแบบการทับถมของตะกอนดินเปลี่ยนแปลงไปอาจเกิดตะกอนทับถมในแนวปะการังเพิ่มมากขึ้นจนทำให้ปะการังตายในที่สุด

·       การเดินเหยียบย่ำ พลิกปะการัง

ชาวประมงในหลายท้องที่ยังหากินโดยการค้นหา จับ สัตว์น้ำบางประเภทที่หลบซ่อนอยู่ตามแนวปะการังน้ำตื้นหรือแนวปะการังที่โผล่พ้นน้ำเมื่อน้ำลง สัตว์น้ำดังกล่าว เช่น หมึกยักษ์ ปลิงทะเล หอยสวยงาม ฯลฯ การรื้อ พลิกหินปะการังให้หงายขึ้นก่อให้เกิดความเสียหายกับปะการังโดยตรง และยังทำให้สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ ที่ขึ้นเคลือบอยู่ใต้หัวปะการัง เช่น ฟองน้ำ เพรียงหัวหอม ไบรโอซัว ฯลฯ ซึ่งชอบขึ้นอยู่ในที่กำบังแดด ต้องตายไปเพราะได้ถูกแดดแผดเผา ซึ่งสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้ก็มีความสำคัญในห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ



ปะการังถ้าถูกทำลายจะต้องใช่การฟื้นตัวนานเท่าใด?

นักวิทยาศาสตร์พยายามศึกษาอัตราการเติบโตของปะการัง โดยใช้วิธีการหลายรูปแบบ ทั้งการวัดโดยตรง การย้อมสี รวมไปถึงการใช้กัมมันตรังสี ซึ่งทำให้วัดอัตราการเติบโตของปะการังแต่ละชนิดได้ โดยทั่วๆ ไปปะการังแผ่นและปะการังกิ่งจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่ค่อนข้างเร็วกว่าอย่างอื่น อาทิ ปะการังเขากวางบางชนิดจะเจริญเติบโตเฉลี่ยได้กว่า 10 เซนติเมตรต่อปี ในขณะที่ปะการังก้อนอัตราเติบโตเฉลี่ยจะมีเพียงประมาณ 1 - 2 เซนติเมตรต่อปีเท่านั้น ดังนั้นไม่ใช้เรื่องง่ายที่ปะการังถูกทำลายแล้วจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว