Saturday, December 12, 2015

6. ทำไมปะการังจึงถูกทำลาย







ปัญหาที่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของแนวปะการังขึ้นกับอิทธิพลของกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นนบริเวณแนวปะการัง ซึ่งถ้าแนวปะการังถูกทำลายจนเสื่อมโทรมความสมดุลของระบบนิเวศก็จะถูกทำลายไปด้วย ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรประมงในบริเวณแนวปะการังและบริเวณใกล้เคียง และทำให้เกิดการพังทลายของชายหาดที่สวยงาม ส่งผลต่อกิจกรรมการท่องเที่ยวได้ สาเหตุและแนวโน้มของปัญหาที่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของแนวปะการัง มีดังนี้

6.1 ปัญหาที่เกิดตามธรรมชาติ

·       การเกิดดาวหนามระบาด




นักวิทยาศาสตร์ได้ประเมินไว้ว่า หากมีดาวหนามเกิน 10   ตัว ในพื้นที่ 1 เฮกแตร์ (ประมาณ 10,000 ตาราง-เมตร) ให้ถือว่าอยู่ในระดับระบาด ถ้ามากกว่า 30 ตัว ถือว่าระบาดรุนแรงมาก ดังนั้นถ้าหากเรา ดำน้ำวนเวียนอยู่ในพื้นที่ขนาดนั้น แล้วพบว่ามีดาวหนามมากกว่า 10 ตัว ก็เห็นสมควรที่จะกำจัดดาวหนาม ทั้งนี้ถ้าอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ก็ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อขอความเห็น และต้องได้รับอนุญาตก่อน วีธีการกำจัดดาวหนาม ทำง่ายๆ โดยใช้มีดคว้านตรงกลางลำตัวให้อวัยวะภายในกระจายออกมา อย่าผ่ากลางเป็นสองท่อน เพราะดาวทะเลสามารถงอกแขนใหม่กลายเป็นสองตัวได้ หรืออาจใช้วีธีเก็บขึ้นบนเรือแล้วเอาไปทิ้งบนฝั่งก็ได้


             ·       การเกิดปะการังฟอกขาว




       การฟอกขาวของปะการังสามารถเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงแรงกดดันที่เกิดขึ้นกับปะการัง  ปะการังที่มีการฟอกขาวนั้น ปะการังจะมีสีขาวหรือสีจาง ซึ่งเป็นผลมาจากการสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี่ออกไปอย่างกะทันหัน หรือจะเกิดขึ้นเมื่อสาหร่ายขับเม็ดสีออกไป การฟอกขาวเป็นการตอบสนองทางกายภาพ ของสาหร่ายและปะการังต่อแรงกดดันของสภาพแวดล้อมในธรรมชาติ หรือการรบกวนของมนุษย์การฟอกขาวนี้จะพบหลังจากที่อุณหภูมิของน้ำสูงมากผิดปกติ  อย่างไรก็ตามปะการังสามารถมีสีขาวได้เหมือนกันถ้าถูกดาวหนามกิน  เพียงเวลาไม่กี่วันหลังจากถูกกิน ก้อนปะการังก็จะถูกปกคลุมด้วยสาหร่าย ปะการังที่ฟอกขาวนั้นอาจจะสร้างซูแซนเทลลี่ขึ้นมาใหม่โดยการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ หรือโดยการจับสาหร่ายซูแซนเทลลี่จากมวลน้ำเมื่อสภาพแวดล้อมกลับสู่สภาวะปกติ 





                     ·       คลื่นสึนามิ




         เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นทางฝั่งทะเลอันดามันเมื่อปลายปี พ.ศ.2547 ความรุนแรงของคลื่นสึนามิทำให้ปะการังเสียหายในหลายรูปแบบ เช่น พลิกคว่ำ แตกหัก ทรายทับถม จากการประเมินความเสียหายอย่างหยาบๆ โดยนักวิชาการและนักดำน้ำอาสาสมัคร สรุปได้ว่ามีแนวปะการังที่ได้รับความเสียหายในระดับรุนแรง (หมายถึง แนวปะการังในแหล่งนั้นๆ แตกหักพลิกคว่ำหรือเสียหายในรูปแบบต่างๆ มากกว่า 50%) กินพื้นที่ประมาณ 13% ของแนวปะการังทั้งหมดทางฝั่งทะเลอันดามัน บริเวณที่เสียหายมาก มักเป็นจุดที่อยู่ตามหัวเกาะและร่องน้ำระหว่างเกาะ



                 ·       พายุพัดทำลาย

เหตุการณ์พายุพัดทำลายแนวปะการังในน่านน้ำไทยเกิดขึ้นหลายครั้ง คือ ในปี พ.ศ.2529 ทางฝั่งทะเลอันดามันเกิดคลื่นพายุลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่รุนแรงมาก และทางฝั่งอ่าวไทยเกิดพายุเกย์และพายุลินดาในปี พ.ศ.2532 และ 2540 ตามลำดับ ผลของคลื่นพายุก่อให้เกิดความเสียหายในแนวปะการังเป็นบริเวณกว้าง




              6.2 ปัญหาจากมนุษย์

                   ·       การพัฒนาที่ดินบริเวณใกล้เคียงชายฝั่ง การก่อสร้างที่ยื่นล้ำลงไปในชายหาด


การพัฒนาที่ดินบริเวณใกล้เคียงชายฝั่ง การก่อสร้างที่ยื่นล้ำลงไปในชายหาด ทำให้ทรายถูกพาเคลื่อนไป อาจไปทับถมปะการังได้ หรือก่อสร้างโดยเปิดหน้าดินออกทำให้เกิดการชะตะกอนลงไปในน้ำไปคลุมปะการัง ตายได้ การทิ้งของเสียและสิ่งปฏิกูลลงในบริเวณปะการัง ก็ทำให้เสียสมดุลของระบบนิเวศ เช่น สาหร่ายจะเกิดมากขึ้นปกคลุมปะการังให้ตายหมด เมื่อมีน้ำเสียทิ้งลงไป เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ


·       การปล่อยน้ำเสีย (Sewage pollution) ลงทะเล

น้ำเสียนั้นจะประกอบด้วยสารอาหารจำนวนมาก เช่น ไนเตรท และฟอสเฟต  การเพิ่มขึ้นของสารอาหารในน้ำทำให้สาหร่ายสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว  สาหร่ายแข่งขันแย่งพื้นที่กับปะการัง ดังนั้นบางครั้งสาหร่ายเติบโตครอบคลุมก้อนปะการัง ทำให้ปะการังตาย

·       การทำเหมืองแร่บริเวณใกล้เคียงแนวปะการัง 

ไม่ว่าบนบกหรือในทะเล น้ำล้างแร่นั้นมีตะกอนมากจะทำให้ปะการังตายได้

·       การทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง


ขยะ  ได้แก่ พลาสติกและโลหะนั้นอาจจะถูกโยนลงในทะเล  สัตว์ในทะเลอาจจะเข้าใจผิดคิดว่าขยะเหล่านี้เป็นอาหารของมัน  และพยายามกินอาหารเหล่านี้  บางครั้งสัตว์ก็เข้าไปติดอยู่ในขยะ เช่น พลาสติกที่ทิ้งไว้บริเวณที่ไปวางอวน  แล้วพลาสติกพันปลายุ่งเหยิงจนปลาไม่สามารถดินหลุดออกมาได้ ทำให้มันบาดเจ็บหรือตายในที่สุด

·       คราบน้ำมันและน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม


เมื่อเกิดน้ำมันรั่วครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่ง ก็จะฆ่าสัตว์น้ำและเกิดการปนเปื้อนในตะกอนและน้ำบริเวณรอบ ๆ   คราบน้ำมันก็จะติดอยู่บนก้อนปะการังที่โผล่พ้นน้ำขณะน้ำลง ทำให้ปะการังและสัตว์อื่น ๆหายใจไม่ได้  ส่วนน้ำเสียจากอุตสาหกรรมนั้นมาจากโรงงานที่ผลิตขึ้นเพื่อมนุษย์ เช่น สารเคมีที่ใช้ฆ่าศัตรูพืช  ซึ่งถ้าหากล้างลงสู่ทะเลก็จะทำลายระบบนิเวศในทะเล

·       การทำลายหน้าดิน

การเพิ่มขึ้นของดินตะกอนนั้นมาจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากการถากถางพื้นที่ป่าทำให้หน้าดินโผล่นั้น  ในช่วงที่ฝนตกหนัก ดินจะถูกชะล้างลงสู่ทะเล  ดินตะกอนก็จะไปปกคลุมสัตว์ที่เกาะอยู่กับที่เช่น ปะการัง และฟองน้ำ ทำให้สัตว์เหล่านี้หายใจไม่ออก  และถ้าหากถากถางดินเพื่อใช้ในการเกษตรกรรม น้ำที่ไหลลงสู่แนวปะการังก็จะประกอบด้วยสารเคมี เช่น ยาฆ่าหญ้า และปุ๋ยหรือสารอาหารอีกด้วย

·       การทำประมงมากเกินกำลังและการใช้เครื่องมือแบบทำลายล้าง


การทำประมงมากเกินกำลัง เกิดเมื่อมีการจับสัตว์ที่ต้องการจำนวนมากเกินไป ออกจากแนวปะการัง ทำให้ปลาตัวเต็มวัยที่เหลืออยู่มีไม่เพียงพอในการสืบพันธุ์ และคงขนาดของประชากรไว้  สัตว์ชนิดนั้นก็จะกลายเป็นสัตว์ที่หายากหรือกำลังสูญพันธุ์ การนำอุปกรณ์ทำประมง เช่น ตาข่ายไนลอนมาใช้ เป็นการเพิ่มจำนวนสัตว์ที่จับได้มากขึ้นและยังทำให้เกิดการทำประมงมากเกินกำลังอีกด้วย ส่วนการทำประมงโดยใช้เครื่องมือแบบทำลายล้างเช่น การวางระเบิด และวางยาเบื่อปลานั้นเป็นการฆ่าสัตว์แบบไม่มีการเลือก  การใช้ระเบิด นั้นจะทำลายโครงสร้างแนวปะการัง ซึ่งทำให้สูญเสียพื้นที่อาศัยสำหรับสัตว์ที่อาศัยอยู่ในแนวปะการัง และนำไปสู่การทำประมงเกินกำลัง

·       การเก็บปะการัง

บางประเทศมีการสะสมปะการังเพื่อใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง  นอกจากนี้ยังมีการใช้ประโยชน์ปะการังเป็นของที่ระลึกและตกแต่งในตู้ปลา  การนำก้อนปะการังออกจากแนวปะการังนั้นมีความสำคัญ  ทั้งนี้เนื่องจากชีวิตสัตว์จำนวนมากขึ้นอยู่กับปะการังทั้งในเรื่องของอาหารและที่อยู่อาศัย นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของขนาดประชากรของมนุษย์มีผลกระทบบางประการแม้ว่าจะไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงก็ตาม

·       ปัญหาจากการท่องเที่ยวในแนวปะการัง


              การพัฒนาการท่องเที่ยวก็สามารถกลายเป็นอันตรายขนาดใหญ่สำหรับแนวปะการังได้เช่นกัน โรงแรม หรือรีสอร์ทขนาดใหญ่ที่อยู่บนฝั่งใกล้กับแนวปะการังนั้น สามารถทำลายแนวปะการังได้ เนื่องจากน้ำเสียที่เป็นอินทรีย์สารนั้นอาจปล่อยลงบนแนวปะการัง เหตุการณ์เช่นนี้สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการบำบัดน้ำเสียและปล่อยลงที่ไกลจากแนวปะการัง   
การทำลายอื่น ๆ นั้นเกิดจากการไม่มีประสบการณ์ หรือการดำน้ำอย่างไม่ระมัดระวัง และการทอดสมอเรือ ซึ่งทำให้ปะการังแตกหัก และในบางครั้ง ทำให้เกิดการทำลายสัตว์จำนวนมากในแนวปะการังเพื่อนำมาทำเป็นของที่ระลึกขายนักท่องเที่ยว

·       การพัฒนาแนวชายฝั่ง


เมื่อมีประชากรเข้ามาใช้พื้นที่เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดการพัฒนาแนวชายฝั่งมากขึ้นด้วย มีการนำเอากิจกรรม และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เข้ามาในพื้นที่ชายฝั่ง เช่น การใช้พื้นที่เพื่ออุตสาหกรรม สร้างที่อยู่อาศัย สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สนามบิน การก่อสร้างท่าเรือ การขุดรอก และอื่นๆ อีกมากมาย   ซึ่งกิจกกรมเหล่านี้จะไปรบกวนการไหลเวียนของระบบน้ำ ทำให้รูปแบบการทับถมของตะกอนดินเปลี่ยนแปลงไปอาจเกิดตะกอนทับถมในแนวปะการังเพิ่มมากขึ้นจนทำให้ปะการังตายในที่สุด

·       การเดินเหยียบย่ำ พลิกปะการัง

ชาวประมงในหลายท้องที่ยังหากินโดยการค้นหา จับ สัตว์น้ำบางประเภทที่หลบซ่อนอยู่ตามแนวปะการังน้ำตื้นหรือแนวปะการังที่โผล่พ้นน้ำเมื่อน้ำลง สัตว์น้ำดังกล่าว เช่น หมึกยักษ์ ปลิงทะเล หอยสวยงาม ฯลฯ การรื้อ พลิกหินปะการังให้หงายขึ้นก่อให้เกิดความเสียหายกับปะการังโดยตรง และยังทำให้สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ ที่ขึ้นเคลือบอยู่ใต้หัวปะการัง เช่น ฟองน้ำ เพรียงหัวหอม ไบรโอซัว ฯลฯ ซึ่งชอบขึ้นอยู่ในที่กำบังแดด ต้องตายไปเพราะได้ถูกแดดแผดเผา ซึ่งสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้ก็มีความสำคัญในห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ



ปะการังถ้าถูกทำลายจะต้องใช่การฟื้นตัวนานเท่าใด?

นักวิทยาศาสตร์พยายามศึกษาอัตราการเติบโตของปะการัง โดยใช้วิธีการหลายรูปแบบ ทั้งการวัดโดยตรง การย้อมสี รวมไปถึงการใช้กัมมันตรังสี ซึ่งทำให้วัดอัตราการเติบโตของปะการังแต่ละชนิดได้ โดยทั่วๆ ไปปะการังแผ่นและปะการังกิ่งจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่ค่อนข้างเร็วกว่าอย่างอื่น อาทิ ปะการังเขากวางบางชนิดจะเจริญเติบโตเฉลี่ยได้กว่า 10 เซนติเมตรต่อปี ในขณะที่ปะการังก้อนอัตราเติบโตเฉลี่ยจะมีเพียงประมาณ 1 - 2 เซนติเมตรต่อปีเท่านั้น ดังนั้นไม่ใช้เรื่องง่ายที่ปะการังถูกทำลายแล้วจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

No comments:

Post a Comment